เชื่อมโยงความรู้ตามมาตรฐาน ส 4.2 เพื่อนำไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ 4.2.3
ลำดับขั้นการเข้าศึกษา (คลิกแถบลิงก์ ที่ Home หน้าหลัก ) คลิก ดูหนังวีดีโอเกี่ยวกับสงครามความขัดแย้งแล้ว ดู ฟัง จำ จบแล้ว คลิก ทำแบบทดสอบก่อนเรียนตามลำดับหัวข้อเรื่อง(1,2,3..) เสร็จแล้ว คลิก ศึกษาเนื้อเรื่องตามลำดับ (1,2,3...) คลิก ทำกิจกรรมใบงานตามลำดับ (1,2,3...) คลิก ทำแบบทดสอบหลังเรียนเมื่อศึกษาเนื้อเรื่อง ทำกิจกรรมใบงานเสร็จในแต่ละหัวข้อเรื่อง ขอให้เข้าศึกษาและทำกิจกรรมได้รับความรู้ ความบันเทิงอย่างมีความสุข
ช่วงชั้นที่ 4 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับความขัดแย้ง ความร่วมมือและการสร้างสันติภาพของโลก
มาตรฐาน ส 4.2
เข้าใจพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในแง่ความสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงความสำคัญและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น
ก่อนเข้าศึกษาเนื้อหาความรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ 4.2.3 ให้ผู้เข้าศึกษาได้อ่านทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบันก่อนนะครับ จะได้เข้าใจ สาเหตุ ปัญหา เหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง และการร่วมมือกันเพื่อรักษาสันติภาพของโลกดีขึ้น
มาตรฐานการเรียนรู้ 4.2.3
วิเคราะห์ผลงานของมนุษยชาติที่นำไปสู่ความร่วมมือและความขัดแย้งตลอดจนแนวทางในการประสานประโยชน์เพื่อสันติภาพของโลก
สาระสำคัญ
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้แสดงถึงความขัดแย้งในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การทหาร รวมไปถึงวัฒนธรรม มักก่อให้เกิดปัญหาจนเป็นประเด็นนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียและความทุกข์แก่มนุษยชาติโดยรวม ประชาชาติต่างๆจึงได้พยายามแสวงหาหลักประกันเกี่ยวกับสันติภาพและความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นคง รวมไปถึงการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การการแสวงหา"สันติภาพ"ในระยะยาว พร้อมกับลดทอนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมือง เชื่อชาติหรือศาสนา รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศอันเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ
จุดประสงค์การเรียนรู้
พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
1. ผู้เรียนสามารถอธิบายปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการสร้างสรรค์ทางอารยธรรมได้
2. ผู้เรียนสามารถเล่าถึงพัฒนาการของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบันได้
3. ผู้เรียนสามารถอธิบายปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาของชาติไทยได้
4. ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาการของมนุษยชาติในอนาคตได้
พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการสร้างสรรค์อารยธรรมของยุคก่อนประวัติศาสตร์
สภาพภูมิศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีลักษณะสำคัญเป็นระยะที่น้ำแข็งปกคลุมโลกมนุษย์ต้องหลบหนีอาศัยในเขตอบอุ่น ข้อสันนิษฐานว่าที่อยู่อาศัยคงยังไม่เป็นหลักแหล่ง พักอยู่ตามถ้ำ โพรงไม้ ป่า หรือต้นไม้ใหญ่ เป็นการชั่วคราวเพื่อกันแดดกันฝน หรือความหนาวเย็นของลมพายุลูกเห็บ สัตว์ร้าย การอพยพที่อยู่ตามแหล่งอาหารจะชุมนุมอยู่บริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากหาอาหารได้สะดวก มนุษย์มีวิวัฒนาการตามลำดับสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตี่เป็นกลุ่มสังคมจากการศึกษาค้นคว้าความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานโบราณคดีทำให้ทราบว่า การตั้งถิ่นฐานการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และสร้างสรรค์อารยธรรมให้แก่ตนเองและชนรุ่นหลังอย่างช้า ๆ จากการประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ อาวุธ ที่อยู่อาศัย การเพราะปลูก การเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งผลงานทางศิลปะ ได้แก่ ภาพวาดตามผนังถ้ำ เป็นต้น
อารยธรรมยุคหิน
ในสมัยยุคหินตั้งแต่ยุคหินเก่าจนถึงยุคหินใหม่ สภาพทางภูมิศาสตร์เอื้ออำนวยต่อการกำเนิดอารยธรรมโดยที่มนุษย์เริ่มดำรงชีวิตแบบนายพราน อาศัยอยู่ตามถ้ำ มีเครื่องมือหินอย่างหยาบ รู้จักพึ่งธรรมชาติ คือ เริ่มรู้จักไฟ มีพิธีฝังศพ เริ่มเกิดพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา งานศิลปะเป็นจิตรกรรมฝาผนังรูปสัตว์ป่าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมามนุษย์เริ่มสร้างที่พักอย่างง่าย ๆ เครื่องมือหินประณีตมากขึ้น รู้จักจับปลา เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรกรรมอย่างง่าย ๆ รู้จักปั้นหม้อไหหยาบ ๆ ด้วยดินเหนียวตากแห้ง ส่วนงานจิตรกรรมเริ่มมีภาพมนุษย์ปะปนกับสัตว์ แสดงการล่า การต่อสู้ ภาพเกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ นับถือพระอาทิตย์และยกย่องเพศหญิงจนกระทั่งเปลี่ยนจากนายพรานมาเป็นเกษตรกร ถือว่าเป็นการปฏิวัติยุคหินใหม่ ทำให้มนุษย์ตั้งรกรากกับที่ดิน และพัฒนาเป็นแว่นแคว้น อาณาจักรในสมัยต่อมา มนุษย์ประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องจักร ภาชนะหม้อไหประณีตมากขึ้น หรือบางครั้งเรียกว่า ยุคหินขัด นอกจากนี้รู้จักการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ทำเรือ เลี้ยงสุนัข ด้านสภาพสังคมมีการจัดระเบียบตามลำดับอาวุโส ทำงานเป็นกลุ่ม ปัจจัยการผลิตคือที่ดินเป็นของส่วนรวม เริ่มเกิดเมือง ศิลปกรรมที่เด่นชัดยุคหินใหม่ คือ เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคหินเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา ทั้งการตั้งถิ่นฐาน การเพาะปลูก การล่าสัตว์ ทำให้มนุษย์พัฒนาการสร้าง การประดิษฐ์ที่มีความประณีต มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อารยธรรมยุคโลหะ
มนุษย์ในยุคนี้เริ่มนำทองแดงที่พบในธรรมชาติมาหลอมให้เกิดความร้อนได้ขนาดและเหมาะสมแก่การใช้สอย เนื่องจากทองแดงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงคิดทำโลหะผสมขึ้นโดยหลอมดีบุกกับทองแดงเรียกว่า สำริด ในช่วงเวลา 3,000 – 1,000 ปีก่อนคริสตกาล สภาพสังคมของยุคเหล็กนั้นตั้งหลักแหล่งตามลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มนุษย์ปลูกพืชโดยสัมพันธ์กับปริมาณน้ำและภูมิอากาศ มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำลำธาร และป้องกันน้ำท่วม พืชไร่เสียหายเมื่อมนุษย์อาศัยรวมตัวมากขึ้น สังคมมีกฎระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สิน จนกลายเป็นสิ่งที่สืบต่อปฏิบัติกลายเป็นกฎหมายของเมือง จัดตั้งผู้ปกครองหรือผู้นำขึ้นมีพิธีกรรมและความเชื่อกำหนดวิถีชีวิตผ่านการเคารพในพลังธรรมชาติ เช่น เทพเจ้า เจ้าป่าเจ้าเขา ภูตผี เพื่อคุ้มครองจากภัยอันตรายต่าง ๆ เมื่อสภาพสังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้น มีการทำเกษตรกรรมเป็นระบบ การค้าขายแลกเปลี่ยน การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ตอบสนองความต้องการ ในดินแดนที่การค้าขายขยายตัวจะพัฒนาการคมนาคมจากการลากจูง จนทำลูกล้อด้วยโลหะในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขนส่ง การเดินทาง การทำรถม้า เพื่อการสัญจร
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการสร้างสรรค์อารยธรรมในยุคประวัติศาสตร์
ในยุคประวัติศาสตร์พัฒนาการของความเจริญได้กระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลกตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร การสร้างสรรค์อารยธรรมในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก จะเริ่มต้นบริเวณลุ่มแม่น้ำที่สำคัญต่าง ๆ การที่มนุษย์ค้นพบเหล็กและนำเทคนิคการหลอมละลายทำเป็นวัสดุรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในสังคมก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสืบเนื่องต่อมา ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกตะวันออก เป็นอารยธรรมที่เก่าแก่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุและฮวงโห
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
เริ่มมีพวกอารยันเข้ารุกรานอินเดียและขับไล่ชาวพื้นเมืองดราวิเดียนให้ถอยร่นลงใต้ ต่อมาชาวอารยันได้ผสมผสานเผ่าพันธุ์กับชาวดราวิเดียน (ชนเผ่าดั้งเดิม) และรับอารยธรรมของชาวพื้นเมืองเป็นอารยธรรมของตน การก่อสร้างบ้านเรือนยังคงเป็นแบบง่าย ๆ ประชาชนรวมตัวกันอยู่เป็นหมู่บ้านและตามเมืองเล็ก ๆ ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม โดยมีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว สภาพของชุมชนเกิดขึ้นในลักษณะหลาย ๆ ครอบครัวเป็นหมู่บ้านและหลายหมู่บ้านเป็นเผ่า ขึ้นอยู่กับหัวหน้าเรียกว่า ราชา (Raja) แต่ละหมู่บ้านปกครองกันเองภายใต้คณะกรรมการปกครองหมู่บ้าน
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห
เริ่มจากชุมชนเกษตรกรรมที่ประสบปัญหาจากแม่น้ำที่มีอุทกภัยอยู่เสมอจนเรียกว่า แม่น้ำวิปโยค ทำให้ชุมชน เกษตรกรต้องร่วมมือกันหาทางป้องกันความเสียหาน เช่น สร้างเขื่อน และขุดคลองขนานไปกับแม่น้ำ ต่อมาวิวัฒนาการรวมตัวแบบหมู่บ้านกลานเป็นเมืองในที่สุด เนื่องจากลุ่มแม่น้ำฮวงโหเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการควบคุมชาวนาในการขุดคูทดน้ำก่อให้เกิดชนชั้นปกครอง เป็นชนชั้นสูง มีความแตกต่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง การปกครองเป็นแบบนครรัฐ แต่ละเมืองมีการปกครองแบบอิสระ หัวหน้าแคว้นขึ้นตรงต่อกษัตริย์ สถานะทางสังคมมีการแบ่งอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้จากสภาพที่อยู่ชนชั้นปกครองเป็นปราสาทขนาดใหญ่ งดงามคงทนถาวร ส่วนสามัญชน ทาส ที่อยู่ทำด้วยดินเหนียว หรืออยู่บริเวณเชิงเขา นอกจากนี้สังคมจีนเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติถือว่าพลังลึกลับของโลกหรือจักรวาลมีส่วนกำหนดสุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง โชคชะตาของมนุษย์ที่เชื่อกันในเรื่อง ฮวงจุ้ย ดังนั้นบุคคลย่อมได้รับผลกระทบเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้กลมกลืนกับพลังลึกลับแห่งจักรวาล
ข้อสรุปโลกตะวันออก หมายถึง อารยธรรมของชาติตะวันออก ซึ่งมีแหล่งอารยธรรมใหญ่ 2 แหล่ง คือ จีนและอินเดีย ทั้งทางด้านศิลปะวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาของชาติไทย
เนื่องจากลักษณะร่วมที่สำคัญของชนชาติไทย คือ เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการทำนาและยังชีพด้วยการเกษตร บริเวณที่ราบลุ่มจึงเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งหลักแหล่งกันมากที่สุด ตัวอย่างเช่น โยนกนคร เชียงแสน การเลือกตั้งเมืองใกล้แม่น้ำกกและแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์ว่ามีความสำคัญต่อการตั้งเมืองโดยเฉพาะเมืองหลวงเชียงแสน (ปัจจุบัน) หรือพันธุสิงหนตินคร เพราะเป็นผลดีในด้านการเพาะปลูก แหล่งอาหารในน้ำ แม่น้ำเป็นเส้นทางที่สะดวกและปลอดภัยกว่าการเดิน ทางในป่าซึ่งมีแต่สัตว์ร้าย การเลือกตั้งเมืองหลวง เช่น พระยามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ทรงเลือกที่ตั้งเมืองใหญ่อยู่ที่เวียงกุมกาม ริมแม่น้ำปิงก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ (ก็อยู่ริมแม่น้ำปิง)สำหรับเมืองหลวงของไทยที่มีตั้งอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีที่สุด และเป็นเมืองหลวงที่มีระยะเวลายาวนาน คือ อยุธยา เพราะภูมิประเทศตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีคลองบึงจำนวนมาก ทำการเพาะปลูกได้ผลดี นอกจากนี้มีแม่น้ำสำคัญ 3 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางเหนือ แม่น้าป่าสักทางตะวันออก และแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกและทางใต้ อีกทั้งสามารถติดต่อกับหัวเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ได้สะดวก และรับสินค้าโดยเฉพาะของป่าจากหัวเมือง ซึ่งเป็นสินค้าที่ต่างชาติต้องการมากมาขายยังอยุธยา การที่อยุธยาตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากอ่าวไทย ทำให้เรือสินค้าต่างชาติสามารถเข้ามาค้าขายที่อยุธยาได้สะดวก และพัฒนาเมืองค้าขายโดยเป็นพ่อค้าคนกลางระหว่างพ่อค้าต่างชาติกับหัวเมือง และระหว่างพ่อค้าต่างชาติด้วยกันเอง อยุธยาจึงมีพัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และสืบทอดต่อมายังกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนกรุงธนบุรีนั้นมีที่จุดตั้งยุทธศาสตร์ที่ดี สามารถป้องกันข้าศึกที่เข้ามารุกรานทางทะเลได้สะดวกแต่พระราชวังอยู่ในพื้นที่คับแคบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง เหมาะแก่การขยายบ้านเองในอนาคต ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีอายุมากกว่า 222 ปี จึงมีความเหมาะสมในด้านการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เพราะอยู่ใกล้ปากอ่าวไทยจึงสามารถบรรทุกสินค้าเข้าและสินค้าออกได้เป็นจำนวนมาก ความอุดมสมบูรณ์บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่ตอนบนและตอนล่างแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่ดี ทุก ๆ ปีแม่น้ำและลำน้ำหลายสายพัดพาโคลนตะกอนมาทับถมพื้นที่ราบลุ่มในฤดูน้ำหลาก ทำให้เกิดปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะกับเพาะปลูกถาวร ไม่จำเป็นต้องโยกย้ายพื้นที่เพาะปลูก เหตุนี้บริเวณภาคกลางตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีการตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งแม่น้ำจนเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น ๆ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ดีส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ คนไทยทุกคนควรสำนึกและช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้อยู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
แนวโน้มการพัฒนาการของมนุษยชาติในอนาคต
ตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามเย็น ประชากรทั่วโลกมองเห็นว่าสงครามไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสม เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากระบบดั้งเดิม โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่ทุกประเทศต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แนวโน้มของโลกอนาคตให้ความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากมากเป็นพิเศษ และหันมาสนใจสภาวะแวดล้อมอย่างจริงจัง การที่โลกมุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ทำให้ขาดการระมัดระวังการอนุรักษ์ทรัพยากรและการรักษาสภาวะแวดล้อม
ลักษณะเด่นชัดของโลกปัจจุบัน ก็คือ การมีชีวิตที่คล้ายคลึงกันทั้งโลก การขยายตัวของเมืองการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประชากร การฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น
การมีชีวิตที่คล้ายคลึงกันทั้งโลก
เนื่องจากการแพร่ขยายของวัฒนธรรมจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ทำให้ประชากรทั่วโลกมีชีวิตที่คล้ายคลึงกันทุกขณะจากปัจจัยด้านการสื่อสาร การค้าขาย การเดินทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารแพร่ไปยังมวลชนจำนวนมากด้วยความรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วทุกแห่งในโลก ด้วย การใช้โทรศัพท์ โทรสาร วิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียมสื่อสาร ทั่วโลกสามารถรับข่าวสารได้พร้อม ๆ กัน การสื่อสารจึงเป็นลักษณะเปิดหรือเสรีมากขึ้นการค้าขาย ด้วยความก้าวหน้าทางการขนส่งและการติดต่อสื่อสาร แต่ละประเทศสามารถซื้อและขายสินค้านานาชนิดทั้งเครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ แม้แต่รายการบันเทิงทางโทรทัศน์จากต่างประเทศ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารภายในอึดใจ สินค้าหลายชนิดเป็นสินค้าที่ครองตลาดโลก เช่น เครื่องดื่ม รายการบันเทิง – กีฬา ทางโทรทัศน์การเดินทาง การเดินทางด้วยเครื่องบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทุกวันนี้ผู้คนจากทุกระดับชั้นทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย คาดว่าในอนาคตผู้เดินทางต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่เดิมอีกเท่าตัวอย่างแน่นอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแพร่หลายเป็นที่ยอมรับและไม่มีความแตกต่างกันซึ่งมาจากหลักการรูปแบบที่ตายตัว ผลผลิตมาจากวิธีการผลิตสินค้า การบริการ การบริหารธุรกิจ การประชาสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วโลกการขยายตัวของเมือง
เนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ ต่อมาขยายไปยังยุโรป และสหรัฐอเมริกาจนแพร่ขยายไปทั่วโลก ผู้คนเข้ามารวมอยู่ในนครใหญ่ แรงงานชนบทกลายมาเป็นกรรมกรในโรงงาน เมืองกลายเป็นที่รวมของผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงวิชา ดังนั้นสังคมมนุษย์มีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเพิ่มประชากร
การสร้างความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตปราศจากความระมัดระวัง ทำให้เกิดการทอดทิ้งสภาพตามธรรมชาติเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น จากการที่สามารถควบคุมโลกอันเป็นผลสืบเนื่องทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมาใช้โดยไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ผลที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาในการทำลายต่อพืชผล สารพิษเพื่อฆ่าศัตรูพืช การสูญพันธ์ของสัตว์ป่า มลพิษจากของเสียต่าง ๆ ได้ทำลายธรรมชาติความสมบูรณ์ลงหมดสิ้น ปัญหาดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อประชากรและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดช่องว่างคนยากจนและคนร่ำรวยรวมถึงประเทศชาติด้วยการแก้ไขปัญหาควรแก้ไขให้ได้ก่อนที่โลกจะพบวิกฤตที่รุนแรงไปกว่านี้ โดยร่วมแรงร่วมใจคำนึงถึงผลดีผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกับอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อความกินดีอยู่ดีของลูกหลานในอนาคต
การฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น
ท่ามกลางวัฒนธรรมที่เหมือนกันทั่วโลกทุกชาติก็พยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่ม ไม่ยอมให้สูญหายไปโดยนำมาสร้างสรรค์แสดงออกในรูปแบบด้านศาสนา วัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ ความพยายามค้นหาร่องรอยของอดีตชาติตนเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะมีวัฒนธรรมของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ ก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะแก่กาลสมัย เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมของใหม่ต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น การผสมผสานวัฒนธรรมโลกกับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดความสมดุลขึ้นอยู่กับรากฐานเดิมที่จะผสมผสานกับอารยธรรมสมัยใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ลงตัวหรือไม่
ตรวจคำตอบทดสอบเชื่อมโยงความรู้ 1) ข 2) ค 3)ข 4)ก 5)ง 6)ง 7) ค 8)ง 9)ก 10)ข
ผู้เรียนที่ทำแบบทดสอบความรู้ได้คะแนนไม่ถึง 5 คะแนน ให้กลับไปอ่านเนื้อหาเพื่อทบทวนความรู้เดิมอีกครั้ง แล้วทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้ง
ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุดรมเสรี http.//th.wikipedia.org.wiki
(ณรงค์ พ่วงพิศ และคณะ . ม.ป.ป.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
อาจารย์ครับออกข้อทดสอบให้เยอะๆได้ไหมครับ ผมอยากทดสอบเตรียมเข้า ม.น่ะ
ตอบลบการแสดงความคิดเห็นให้นักเรียน หรือท่านที่เข้าศึกษา ลงชื่อตัวท่านเอง ไม่ใช่ลงชื่อผู้เขียน
ตอบลบขอบคุณครับ