การปฏิวัติดาร์วิน






ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของชาลส์ ดาร์วิน
ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผู้นำเสนอ “ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” ( Theory of Evolution ) ซึ่งสาระสำคัญที่สรุปได้คือ “การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด”
1. การปฏิวัติดาร์วิน
ผลจากการนำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน คือ มีผู้นำทฤษฎีของชาลส์ ดาร์วิน ไปประยุกต์ใช้โดยอธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมและแนวคิดในการจัดระเบียบสังคมในขณะนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนและสังคมตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เรียกว่า “การปฏิวัติดาร์วิน”
1.1 เกิดแนวคิดสังคมแบบดาร์วิน มีผู้นำทฤษฎีของดาร์วินไปใช้อธิบายอ้างอิงให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหรือระบบนายทุนและลัทธิชาตินิยม กล่าวโดยสรุปคือ “ คนที่แข็งแรงที่สุดหรือชาติที่เข้มแข็งที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ “
ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของมนุษย์จึงเป็นผลมาจากความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ

1.2 เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากฝ่ายคริสตจักร ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินถูกพระสันตะปาปา ( Pope ) ประมุขของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกโจมตีอย่างรุนแรง เพราะขัดต่อหลักคำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และสรรพสิ่งทั้งมวล มนุษย์มิได้มีวิวัฒนาการมาจากลิงแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม มีชาวคริสต์เป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์เชื่อถือในทฤษฎีของดาร์วิน

2. ผลกระทบของลัทธิดาร์วินที่มีต่อโลก
แนวความคิดของลัทธิดาร์วิน มีผลกระทบทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
2.1 เกิดแนวคิดในระบบธุรกิจการค้าสมัยใหม่ของโลกทุนนิยม คือ ระบบของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นการสะท้อนถึงการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุดตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่จะต้องแข่งขันพัฒนาการผลิตของตนให้เหนือกว่าคู่แข่ง
2.2 เกิดการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยม มีผู้นำทฤษฎีของดาร์วินไปขยายว่าคนผิวขาวเป็นชนชาติที่เหนือกว่าคนผิวดำและคนผิวเหลือง และนำไปอ้างว่าเป็น “ภาวะของคนผิวขาว” ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้าไปปกครองดินแดนที่ล้าหลังและด้อยความเจริญในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เป็นผลให้ชาติมหาอำนาจในยุโรปแข่งขันกันล่าอาณานิคมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
2.3 การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความเชื่อที่ว่า ชนผิวขาวเป็นเผ่าพันธุ์ที่เกิดจากการเลือกสรรแล้วของธรรมชาติ ทำให้เกิดการสังหารผู้คนในดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปเกือบ 6 ล้านคนในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมันในสมัยนั้น
2.4 ความเจริญก้าวหน้าทางด้านชีววิทยา จากทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของดาร์วิน กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ๆ ค้นคว้าทดลองจนเกิดความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านชีววิทยา ดังนี้
2.4.1 ความรู้เรื่องพันธุกรรมโดยเกรเกอร์ (Greger Mendel) ชาวออสเตรียได้ค้นพบวิธีถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาเรื่องการผสมพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
2.4.2 การค้นพบเรื่องดีเอนเอ (DNA) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในโครโมโซมที่เป็นส่วนหนึ่งในนิวเคลียสของเซลล์ ทำหน้าที่สืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อไป
2.4.3 การตัดต่อ DNA ระหว่างสิ่งมีชีวิตจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวก เรียกว่า “วิศวพันธุกรรม” หรือ GMO ทำให้ได้พืชหรือสัตว์ตามลักษณะที่ต้องการ
นับตั้งแต่สงครามนโปเลียนในยุโรปสิ้นสุดลง ความสำเร็จและความก้าวหน้าทางสาขาวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ชื่อว่า "ยุคทองของวิทยาศาสตร์" ชาวยุโรปเกิดความเชื่อมั่นในการเรียนรู้และแสวงหาความจริงมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตหรือชีววิทยา
หลังจากที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, ค.ศ. 1809 – 1882) นักวิทยาศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้นำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด (survival of the fittest) ทฤษฎีของเขาก็ถูกนักคิดตะวันตกแทบทุกสาขา รวมทั้งมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำไปใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม ส่งผลต่อแนวคิดในการจัดระเบียบสังคมในขณะนั้นและในอนาคต จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและสังคมครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติดาร์วิน”
ลัทธิดาร์วิน (Darwinism) ความสนใจในด้านธรรมชาติวิทยาและชีววิทยาของดาร์วินเกิดขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสเดินทางรอบโลกกับเรือรบของอังกฤษเป็นเวลา 5 ปี เพื่อศึกษาธรรมชาติและทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์
ในปี ค.ศ. 1859 ดาร์วินได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ On the Origin of Species by Means of Natural Selection on the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life หรือต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า Origin of Species (กำเนิดสรรพชีวิต) ดาร์วินเสนอความเห็นว่าในโลกของอินทรียวัตถุ สัตว์และพืชที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับธรรมชาติที่สุดเท่านั้นจึงจะมีชีวิตรอดได้
สิ่งมีชีวิตจำต้องมีวิวัฒนาการหรือการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการให้มีลักษณะพิเศษและสอดคล้องกับสภาพรอบตัวให้มากที่สุด ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ หลายชนิดและผู้ที่เหมาะสม ที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ ดาร์วินเรียกว่า “การเลือกสรรของธรรมชาติ” (natural selection) ซึ่งถือว่าเป็นแก่นความคิดหรือหัวใจของลัทธิดาร์วิน
ดังนั้น ในความคิดของดาร์วิน บรรพบุรุษของสรรพชีวิต รวมทั้งมนุษย์ด้วย อาจมีเพียง 4 - 5 ชนิด ก่อนที่จะเกิดวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่มีชีวิตซับซ้อนและแตกแขนงต่อไป ในเวลาต่อมา หนังสือเรื่อง The Descent of Man ของเขาได้สรุปว่าบรรพบุรุษของมนุษย์มีเชื้อสายแยกมาจากสายพันธุ์ของลิง และมนุษย์ก็เป็นวิวัฒนาการอันสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
Origin of Species จัดว่าเป็น “หนังสือที่สร้างความสั่นสะเทือนแก่โลก” เล่มหนึ่งและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหนังสือ The Mathematical Principles of Natural Knowledge (ค.ศ. 1687) และการค้นพบความโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซค นิวตัน ( ค.ศ. 1642 - 1727) ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ทางวิทยาศาสตร์
ลัทธิดาร์วินกับคริสต์ศาสนา ในระยะแรกๆ ลัทธิดาร์วินถูกต่อต้านจากองค์กรคริสต์ศาสนาและผู้นับถือคริสต์ศาสนาส่วนหนึ่งเป็นอันมาก เพราะแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของดาร์วินขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งยังทรงสร้างมนุษย์ให้มีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับพระองค์และมนุษย์ก็เป็นสิ่งสมบูรณ์ทุกประการ ไม่ใช่สืบสายพันธุ์มาจากลิง ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่เรียกกันว่า “การทำสงครามของวิทยาศาสตร์กับเทววิทยา”
ใน ค.ศ. 1864 สันตะปาปาไพอัสที่ 9 ทรงออกจุลสารชื่อว่า A Syllabus of the Principal Errors of Our Times สาปแช่งแนวคิดทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ที่ขัดต่อหลักปฏิบัติและความเชื่อที่มีมาแต่อดีต และยังทรงจัดการให้สภาคริสตจักรออกแถลงการณ์ว่าด้วย "หลักการอันถูกต้องดีพร้อมของสันตะปาปา" (Doctrine of Papal Infallibility) ที่ให้อำนาจสันตะปาปาอย่างกว้างขวางและเป็นทางการ โดยกำหนดว่าทุกอย่างที่สันตะปาปากระทำหรือมีพระวาจาในเรื่องเกี่ยวกับศรัทธาและศีลธรรมให้ถือว่าถูกต้องสูงสุด โดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ดังกล่าวกลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากคริสต์ศาสนิกชนทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในอิตาลี ฝรั่งเศสและดินแดนเยอรมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีนิยมและชาตินิยมที่เห็นว่าท่าทีและแนวคิดของสันตะปาปาแสดงถึงโลกทัศน์ที่คับแคบและพยายามจะฟื้นฟูอำนาจของตนเองให้เหนือกว่าอำนาจของรัฐชาติ ต่อมาเมื่อสันตะปาปาลีโอที่ 13 ขึ้นสืบทอดตำแหน่ง สันตะปาปาก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นการประนีประนอมมากขึ้น คริสต์ศาสนจักรโรมันคาทอลิกจึงยอมยุติการต่อต้านการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ขัดกับหลักการของคริสต์ศาสนา แต่สำหรับทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของดาร์วินนั้น สันตะปาปายังทรงต่อต้านต่อไป
อย่างไรก็ตามผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกจำนวนมากก็พยายามหาหนทางเพื่อประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทววิทยา จนก่อให้เกิดความเชื่อในหมู่ผู้นับถือนิกายคาทอลิกว่าพระเป็นเจ้าทรงสร้างจักรวาล แต่ก็ทรงปล่อยให้จักรวาลวิวัฒนาการไปอย่างอิสระเหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ส่วนพวกโปรเตสแตนต์ที่แตกแยกกว่า 300 นิกายต่างก็มีคำตอบที่แตกต่างกัน บางพวกที่ยึดถือคัมภีร์ไบเบิลเป็นอำนาจสูงสุดไม่อาจประนีประนอมกับทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ แต่บางกลุ่มที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนและความสามารถของปัจเจกชนในการแสวงหาศรัทธาและความสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าสามารถหาข้อสรุประหว่างศรัทธากับเหตุผลได้ในที่สุด
แนวคิดสังคมแบบดาร์วิน (Social Darwinism) ทฤษฎีของดาร์วินได้ถูกนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ในศาสตร์อื่นๆ และสังคมด้วย เช่น จิตวิทยา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เรียกว่า แนวคิดสังคมแบบดาร์วิน ซึ่งวอลเตอร์ แบเจต (Walther Bagehet) นายธนาคารและนักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นบุคคลแรกที่คิดคำนี้ขึ้นมาและปรากฏเป็นครั้งแรกในงานเขียนของเขาเรื่อง Physics and Politics : Thought on the Application of the Principles of Natural Selection and Inheritance to Political Science (ค.ศ. 1872)
สำหรับแบเจต การดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชนด้วย มิใช่แต่ปัจเจกชนเท่านั้น ประชากรที่ดิ้นรนและได้รับชัยชนะย่อมดีกว่าประชากรที่พ่ายแพ้และถูกทำให้สูญหายไป โดยนัยนี้ ชาติที่เข้มแข็งเท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้
แนวคิดสังคมแบบดาร์วินได้รับการตอบรับอย่างดีในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวไปทั่วยุโรปในขณะนั้น โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่ผูกขาดการลงทุน ซึ่งถือว่าการดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและการเอารัดเอาเปรียบนั้นเป็นความชอบธรรม เพราะพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และคนที่แข็งแรงที่สุดและเหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างคนมีกับคนจนหรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเป็นผลมาจากพลังความสามารถที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้นดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกสรรของธรรมชาติด้วย
ส่วนผู้ที่นิยมในลัทธิจักรวรรดินิยม แนวคิดสังคมแบบดาร์วินได้ถูกนำมาสรุปเรื่องความเหนือกว่าของคนขาวต่อคนผิวดำและผิวเหลือง ทำให้คนขาวมีสิทธิอันชอบธรรมและมีหน้าที่ปกครองพวกที่ด้อยกว่าตน แนวคิดนี้แพร่หลายมากในอังกฤษ รวมทั้งในจักรวรรดิเยอรมัน และยังมีอิทธิพลต่อบรรดาผู้นำในประเทศต่างๆ อีกด้วย มีการอ้าง "ภาระหน้าที่ของคนขาว" (The White Man's Burden) ในการนำอารยธรรมที่สูงกว่าไปเผยแพร่ในดินแดนด้อยอารยธรรม โดยไม่ต้องสนใจประชาชนที่ถูกคุกคามเพราะเป็นการนำอารยธรรมอันสูงส่งไปมอบให้
นอกจากนี้ หลักการของดาร์วินเรื่องการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุดก็มีส่วนกระตุ้นให้มหาอำนาจยุโรปแข่งขันกันเองเพื่อขยายอิทธิพลและอำนาจของตนมากยิ่งขึ้น จนเกิดการแย่งชิงดินแดนในทวีปต่างๆ และก่อให้เกิดความขัดแย้งกันจนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามโลก
เรื่องความเหนือกว่าของเผ่าพันธุ์ที่เกิดจาก "การเลือกสรรของธรรมชาติ" ของดาร์วินยังกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่คนขาวในการทำสงครามและเข่นฆ่าคนสีผิวอื่นๆ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่และน่าสลดใจที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ 1939 - 1945) เมื่อฮิตเลอร์ใช้ “มาตรการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย” (Final Solution) กำจัดชาวยิวทั่วยุโรปไปถึงเกือบ 6,000,000 คน
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของดาร์วินได้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากในเวลาต่อมา ได้มีการค้นพบทฤษฎีพืชและสัตว์ใหม่ๆ นักชีววิทยาที่สำคัญที่ประสบความสำเร็จในการทดลองค้นคว้างานทางพันธุกรรมได้แก่ เกรเกอร์ เมนเดล (Greger Mendel ค.ศ.1822 - 1884) ผู้ค้นพบวิธีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อไป จากนั้นต่อมา นักชีววิทยาก็ค้นพบว่าดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในโครโมโซม ทำหน้าที่สืบสานลักษณะทางพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อไป
จึงอาจกล่าวได้ว่าคำกล่าวของดาร์วินที่ว่าสิ่งมีชีวิตต่างได้รับการถ่ายทอดลักษณะบางอย่างมาจากบรรพบุรุษนั้น ได้รับการสนับสนุนจากผลงานการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน-



ที่มา (สัญชัย สุวังบุตรและอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. 2551 )

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 กันยายน 2554 เวลา 19:45

    อยากให้มีหัวข้อที่ชัดเจนกว่านี้

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น